REVIEW #PacificPark ศรีราชา อีกหนึ่งห้างในตำนานแห่งเมืองชล

ในวันที่มีเซ็นทรัลศรีราชามาเปิดอยู่ใกล้ๆ แต่ก็ไม่ได้ทำให้แปซิฟิคพาร์คมีความสำคัญน้อยลงไปแต่อย่างใด เพราะที่นี่ยังมี ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์แบรนด์โรบินสัน ที่ยังอยู่เป็น Anchor หลักมายาวนาน จนคนแถวนั้นมักเรียกสถานที่นี้ว่า #โรบินสันศรีราชา

ในขณะที่เซ็นทรัลศรีราชาผู้มาใหม่ ในนั้นไม่มีดีพาร์ทเม้นท์สโตร์แบรนด์ใดเลย เป็นพลาซ่าเพียวๆ ต่างจากอยุธยาที่ไปเปิดเซ็นทรัลใหม่ข้างๆ เจ้าถิ่นที่ข้างในมีโรบินสันอยู่แล้ว ก็ไปเบิ้ลโรบินสันอีกสาขาอยู่ในเซ็นทรัลที่เปิดใหม่

แปซิฟิคพาร์ค จึงเป็นห้างที่ครบกว่า มาคุ้มกว่า แม้พื้นที่จะน้อยกว่า และด้วยความเป็นเจ้าถิ่นเก่าแก่ ที่เพิ่งรีโนเวทให้ดูใหม่ขึ้น ทำให้ที่นี่ยังดูสู้ได้อย่างเต็มที่

ความรู้สึกแปลกเล็กๆ เมื่อมาเยือนเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปีคือ เป็นอาคารที่แบ่งแยกฝั่งแปซิฟิคพาร์ค กับโรบินสันออกจากกันอย่างชัดเจน แม้จะเดินเชื่อมถึงกันได้อย่างไร้รอยต่อ แม้ฝั่งโรบินสันส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ของดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ แต่ก็มีพื้นที่พลาซ่าด้วยไม่น้อย บริหารพื้นที่เช่าเอง

สำหรับร้านค้าที่มาดูพื้นที่เช่าเปิดร้าน เดินข้ามไปอีกโซนนึงต้องไปติดต่อเช่ากับโรบินสันแทนแล้ว ก็อาจจะรู้สึกแปลกๆ ที่ห้างนี้ไม่เป็นหนึ่งเดียว แต่กรณีแบบนี้ ห้างที่กรุงเทพฯมีเพียบ

ฟาซาดด้านหน้าตึกเองก็แยก 2 ฝั่งออกจากกันอย่างชัดเจนเหมือนกัน ทำให้ดีไซน์โดยรวมดูประหลาดมาก แม้ชื่อโครงการจะเป็น Pacific Park ชื่อเดียว ไม่ใช่ Pacific Park+Robinson เหมือนอย่างกรณีของ Future Park+ZPELL ที่ไม่จำเป็นต้องแยกชื่อก็ดันจะแยก

มาในมุมคนเดินบ้าง ห้างนี้ไม่ใหญ่มาก ผังไม่ซับซ้อน มีโถงใหญ่ตรงกลางห้างโถงเดียว แต่มีบางมุมที่มีซอยแยกย่อยซับซ้อนมากขึ้น สำหรับร้านเช่ารายย่อยที่ส่วนใหญ่เป็นหมวดแฟชั่น

มีทั้งหมด 5 ชั้น รวมใต้ดิน ภาพรวมของร้านทั้งหมดในห้าง ให้ความรู้สึกว่านี่แหละ ห้างในยุคคลาสสิค ที่ร้านแต่ละหมวดกระจายกันไปหมดทั่วทุกชั้น ทั้งร้านอาหาร ธนาคาร ฯลฯ มีทุกชั้น แทบจะไม่มีอยู่ติดกันเลย ต่างจากเทรนด์ห้างยุคใหม่ที่มีชั้นร้านอาหาร มีโซนธนาคาร

ร้านอาหารที่มาเปิดก็เป็นร้านประจำในห้าง ยังไม่มีร้านไหนที่พิเศษ ที่ดูพิเศษในห้างนี้ก็คงจะเป็น Mr.D.I.Y. ที่เป็นสาขาแบบ Express เล็กลงกว่าสาขาอื่น ทั้งๆ ที่พื้นที่แถวนั้นเหลืออีกเยอะให้เปิดเป้นสาขาใหญ่ได้สบาย

และโรงหนังเมเจอร์ที่นี่ก็เป็นแบรนด์ EGV สุดคลาสสิค และมีฟู้ดคอร์ทที่ชื่อโหลที่สุดคือ Food Park ที่ไม่ใช่ของทั้งโรบินสัน, CPN, Big C พร้อมกับมีฮอลล์ใหญ่ชื่อ Pacific Hall ของตัวเองแข่งกับ Si Racha Hall ของเซ็นทรัล

สุดท้ายนี้ มีสิ่งที่ต้องชมคือห้างนี้ยังคงมีเว็บไซต์ที่มีผังร้านค้าได้ดูง่ายดีประมาณนึง ห้างสมัยนี้ขี้เกียจทำเว็บไซต์กันหมดแล้ว แต่ว่าข้อมูลร้านยังคงไม่อัปเดต ร้านที่ปิดไปแล้วยังอยู่ ห้องที่มีร้านมาเปิดแล้วก็ยังไม่ใส่ชื่อ
https://www.pacificpark.co.th/ข้อมูลร้านค้า/

หนักที่สุดคือ ร้านที่อยู่โซนที่เป็นของโรบินสันไม่ปรากฎในผังห้างเลย (มีแค่แบรนด์ใหญ่อย่าง B2S, Power Buy, SuperSports) ขนาด KBank, SCB ชั้น 1 ในโซนโรบินสันยังไม่มีในผังเลย เรียกว่าของใครของมัน ต่างคนต่างอยู่ แต่ลูกค้าที่มาอุดหนุนร่วมกันจะได้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน เสียประโยชน์ ซึ่งไม่ได้มีแค่ที่นี่ที่ทำแบบนี้ ประเด็นนี้ที่คือมาที่ทำให้ผมตัดสินใจเปิดเพจนี้และทำเว็บ mallbangkok.com ขึ้นมาตั้งแต่ 9 ปีที่แล้ว เพื่อทำแผนผังห้างในแบบที่ไม่มีการแบ่งแยกเจ้าของโซน เพื่อให้คนเดินห้างได้ข้อมูลที่จำเป็นครบถ้วน (ขายของซะเลย) ดูผังห้างและร้านทั้งหมดในห้างนี้ได้ที่ https://www.mallbangkok.com/pacific-park-sriracha-แปซิฟิคพาร์ค-ศรีราชา/

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *